วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ทัศนศึกษา ช่วยในเรื่องการเรียนอย่างไร ?

บทนำ

ทัศนศึกษาหรือการศึกษานอกสถานที่ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ครูจัดให้กับเด็กเพื่อเพิ่มพูนความรู้และด้วยประสบการณ์ตรงจากแหล่งการเรียนรู้ซึ่งเป็นสถานที่จริง ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า จากการสังเกต การสำรวจ การทดลอง การปฏิบัติจริง และเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ในห้องเรียน โดยบูรณาการทักษะหลายด้านเข้าด้วยกัน พร้อมกับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์

ทัศนศึกษาสำคัญอย่างไร?

การจัดประสบการณ์หรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาให้กับเด็กปฐมวัย ควรเป็นกิจกรรมที่เด็กได้รับประสบการณ์ตรง จากการได้ปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ผ่านการเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการเรียนรู้ การได้สังเกต สำรวจ ทดลอง ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย และค้นพบความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งมีความสำคัญ ดังนี้
  • การพาเด็กไปศึกษานอกสถานที่เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ตอบสนองต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเรียนรู้ด้วยวิธีการนี้ทำให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และเป็นการเรียนที่มีความ หมายและมีคุณค่าต่อเด็ก ซึ่งหากสังเกตพฤติกรรมของเด็กอนุบาลจากการพาเด็กออกไปนอกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นการที่มุ่ง เน้นด้านวิชาการ หรือเพื่อนันทนาการ จะพบว่าเด็กมีความสนใจ กระตือรือร้นและอยากเข้าร่วมกิจกรรม และสามารถจดจำสิ่งที่พบเห็นได้ดี เพราะการพาเด็กไปศึกษานอกสถานที่เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อธรรมชาติการเรียนรู้ และสร้างความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ให้กับเด็ก ดังที่ Jean-Jacques Rousseau, Jean Piaget และ John Dewey ต่างมีแนว คิดที่สอดคล้องกันว่า เด็กจะเรียนรู้ได้ดีจากการลงมือปฏิบัติ ทดลอง สำรวจ ค้นคว้า และพบความรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์ที่เขาได้ปฏิบัติโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ดังนั้น การจัดประสบการณ์หรือกิจกรรมให้กับเด็กปฐมวัยจึงต้องคำนึงถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กเป็นสำคัญ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545) หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา ระบุว่า “แนวทางการจัดการศึกษา ยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนทุกคนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องเสริมสร้างให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา การจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องยึดหลักความสอดคล้อง ความสนใจ ความถนัดและความแตกต่างระหว่างบุคคล จัดกิจกรรมที่ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และให้รู้จักการประยุกต์ใช้ความรู้ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จริง ฝึกปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและใฝ่รู้ ผสมผสานความรู้อย่างสมดุล ปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วยการจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อม สื่อ และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และต่อการเรียนรู้ รอบรู้ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ จากการประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตามศักยภาพ”
  • ทัศนศึกษาหรือการศึกษานอกสถานที่ เป็นกิจกรรมย่อยอีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดอยู่ในกิจกรรมเสริมประสบการณ์ที่ครูจัดให้กับเด็ก โดยพาเด็กไปรับประสบการณ์ตรงจากการได้สังเกตด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า (Five Senses) มีกิจกรรมที่เด็กได้สำรวจ บันทึกและสะท้อนการเรียนรู้เป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในประเด็นหรือหัวเรื่องการเรียนรู้ที่ครูไม่สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาให้เด็กเรียนภายในห้องเรียนได้ เช่น การเรียนรู้กระบวนการผลิตรองเท้า การผลิตน้ำ การทำงานของโรงงานผลิตเครื่องดื่มต่างๆ การทำงานของที่ทำการไปรษณีย์ การศึกษาธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติ การศึกษาการดำรงชีวิตของสัตว์ ซึ่งการเรียนรู้แบบอื่นๆ ทั้งการบรรยาย การเล่าเรื่อง การให้เด็กดูภาพ ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ไม่สามารถทำให้เด็กเข้าใจและเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายได้ ดังนั้นการพาเด็กไปศึกษานอกสถานที่จึงถือเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
  • การไปทัศนศึกษาเป็นกิจกรรมที่เด็กได้ไปพักผ่อนหย่อนใจพร้อมกับการเรียนรู้ในสถานที่ทางธรรมชาติ เช่น ชายทะเล สวนสาธารณะ และยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักในความสำคัญของความเป็นชาติ เอกลักษณ์ของชาติ การเข้าใจหน้าที่ของตนในการพัฒนาชาติ เช่น การพาเด็กไปศึกษาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โบราณสถานต่างๆ เป็นต้น

เด็กจะได้รับประโยชน์อะไรจากการไปทัศนศึกษา?

ทัศนศึกษาหรือการศึกษานอกสถานที่เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อเด็ก ดังนี้
  • ตอบสนองต่อความสนใจ ความต้องการของเด็ก เนื่องจากการไปศึกษานอกสถานที่ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง ได้เปลี่ยนสถานที่การเรียนรู้ จากการเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียน
  • การไปศึกษานอกสถานที่ทำให้เด็กรู้สึกตื่นเต้น ช่วยกระตุ้นการรับรู้และการเรียนรู้ของเด็ก โดยธรรมชาติเด็กใน ช่วงปฐมวัยต้องการเรียนรู้จากการได้ใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งเพียเจท์ (Piaget) ได้กล่าวว่า เด็กในช่วง 2-7 ปี เป็นช่วงวัยที่เด็กต้องการการเรียนรู้จากการได้รับประสบการณ์ใหม่ๆหรือการซึมซับ (Assimilation) จากประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เด็กได้รับจากการสังเกตโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งประสบการณ์ที่เด็กได้รับจะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างทางสติปัญญาในขั้นการปรับขยายโครงสร้าง (Accommodation) ที่เด็กจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆอย่างมีเหตุผลจากการเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้การปรับความรู้เดิมให้เข้ากับประสบการณ์ใหม่ทำให้เกิดความสมดุลของสมองหรือสติปัญญา เช่น เด็กเคยมีประสบการณ์การทำให้น้ำสะอาดด้วยผ้ากรอง การกรองตามวิธีการธรรมชาติด้วยหิน ทราย ถ่าน หรือเครื่องกรองน้ำขนาดเล็ก แต่จากการที่เด็กได้ไปศึกษาโรงงานการผลิตน้ำดื่มก็จะทำให้เด็กมีประสบการณ์ใหม่ๆเกี่ยวกับวิธีการกรองน้ำที่ต้องใช้เครื่องจักรต่างๆที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เด็กได้ปรับเปลี่ยนความรู้เดิมและความรู้ใหม่จนเกิดเป็นความรู้ความเข้าใจหรือเป็นโครงสร้างทางสติปัญญาที่เกิดความสมดุลทางสมอง หรือเรียกว่า equilibrium
  • การไปศึกษานอกสถานที่ช่วยให้เด็กได้พัฒนาทั้งคุณลักษณะอื่นๆ เช่น ประสบการณ์ทางสังคม เด็กจะได้รู้จักการเข้าสังคมและพบเพื่อนมากขึ้น ได้เรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกัน ช่วยให้รู้จักการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นส่วนตัวหรือหมู่คณะ ได้รับความงอกงามทางสติปัญญาจากการได้ศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีกิจกรรมได้เลือกทำมากมาย ทำให้เด็กและเยาวชนได้เลือกเรียนรู้ตามความต้องการ ความถนัดและความสนใจ ทำให้เกิดการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์ต่างๆที่มีคุณค่า


  • ขอขอบคุณบทความดีๆจาก http://taamkru.com/th/%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น